ยอดเข้าชม : 105
ตลาดวัคซีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นตลาดเกิดใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จากการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการสนับสนุนจากภาครัฐ ประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม มีความก้าวหน้าและมีข้อได้เปรียบที่โดดเด่นหลายประการ ได้แก่ ความร่วมมือทั้งภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงกับพันธมิตรในระดับนานาชาติ มาตรการในการรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ และขั้นตอนการขออนุมัติ และขึ้นทะเบียนที่ปรับให้กระชับมากขึ้น สร้างรากฐานอันแข็งแกร่งให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านการพัฒนาและการกระจายวัคซีน การระบาดของโรคโควิด 19 เน้นย้ำให้เห็นถึงความมีศักยภาพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
งานประชุม Vaccine World Asia Congress 2024 – South East Asia Focused ถือเป็นเวทีที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับวัคซีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมวัคซีนจะได้มาประชุม ศึกษา แลกเปลี่ยนข้อมูลและความก้าวหน้าล่าสุดของการวิจัย และพัฒนาวัคซีนในภูมิภาค โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฯลฯ มาร่วมหารือถึงนวัตกรรมการผลิต และเทคโนโลยีล้ำสมัยในการพัฒนาอุตสาหกรรมวัคซีนของภูมิภาคในอนาคต โดยมุ่งเน้นความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนความรู้ และนำเสนอกรณีศึกษาที่โดดเด่น โดยการประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการแปลงแนวคิดเชิงนวัตกรรมมาเป็นแผนปฏิบัติการที่ตอบโจทย์ของอุตสาหกรรมและสังคม การเร่งริเริ่มงานวิจัย เสริมศักยภาพด้านอุตสาหกรรม และบูรณาการเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อปฏิวัติพัฒนาการด้านวัคซีนในภูมิภาค
ระหว่างการเสวนาในหัวข้อ Navigating the SEA Landscape: Innovations, Challenges and Collaborative Solutions ที่จัดขึ้นในงาน Vaccine World Asia Congress 2024 นายมาร์ค (ชุนฮาว) คาว ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “หลังจากได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา ในปี 2563 ประชากรทั่วโลกกว่า 1.5 พันล้านคน ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด Pfizer/BioNTech ตามคำแนะนำของหน่วยงานด้านสุขภาพระดับนานาชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า วัคซีน mRNA ได้รับการยอมรับให้ใช้ในการป้องกันผลกระทบรุนแรงจากการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 ภายใต้การติดตามความปลอดภัยอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยไฟเซอร์มีการศึกษา และพัฒนาวัคซีน mRNA ให้ทันกับการกลายพันธุ์และ สายพันธุ์ใหม่ ๆ ของไวรัสก่อโรคโควิด 19 เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่หลายร้อยล้านคนทั่วโลก นอกจากนี้ ไฟเซอร์มีความภูมิใจที่ได้ร่วมมือสนับสนุนภาครัฐเพื่อให้เกิดความเสมอภาคในการเข้าถึงวัคซีนในระหว่างวิกฤตโรคระบาดที่ผ่านมา ไฟเซอร์ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับความเชื่อถือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ กลุ่มผู้ป่วย และกระทรวงสาธารณสุข ความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนจากภาครัฐในการสร้างการรับรู้ถึงความจำเป็นของวัคซีนในการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันโรค จึงมีความสำคัญในการพัฒนาภูมิทัศน์ของวัคซีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต”
ด้าน ดร.นพ.นิรุตติ์ ประดับญาติ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัจจัยที่สำคัญ 3 ประการของยุทธศาสตร์การนำนวัตกรรมวัคซีนเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ Regulatory Alignment หรือ การปรับกระบวนการขึ้นทะเบียนยาและวัคซีนใหม่ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งภูมิภาคและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล Public-Private Partnership หรือ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในด้านการผลิต การแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการขนส่งและระบบการกระจายวัคซีน Investment in Research and Development หรือ การลงทุนในการวิจัยและพัฒนาทั้งโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี การสนับสนุนศูนย์วิจัยทางคลินิก รวมถึงการลงทุนในการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในทุกกระบวนการ ทั้งนี้ หากสามารถบูรณาการความร่วมมือเพื่อนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีจากการศึกษาวิจัย มาเข้าสู่กระบวนการผลิต ขึ้นทะเบียน และอนุมัติ รวมถึงระบบการติดตามความปลอดภัยหลังการกระจายวัคซีนที่ครอบคลุม ภายใต้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เหมาะสม ก็จะสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนในภูมิภาคได้อย่างยั่งยืน”
ในการเสวนา (Round-Table Discussion) หัวข้อ “Vaccine Policy & Regulation” นายแพทย์เรืองวิทย์ ธรรมอารี ผู้จัดการอาวุโส แผนกการแพทย์ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ได้กล่าวสรุปว่า “จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ที่ผ่านมา ยิ่งเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการกำหนดนโยบายและกฎระเบียบข้อบังคับในการขึ้นทะเบียนวัคซีน ที่ต้องคำนึงถึงความรวดเร็วเพื่อตอบสนองต่อโรคอุบัติใหม่ได้อย่างทันท่วงที ในขณะเดียวกันก็ต้องมีมาตรฐานที่ทำให้เกิดความมั่นใจทั้งในเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน โดยปัจจัยต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องประกอบไปด้วย
- Knowledge หรือความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเหมาะสม ในผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคเอกชน ไปจนถึงประชาชนทั่วไป โดยอาศัยความร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่จะผลักดันให้เกิดสังคมอุดมปัญญา หรือมี health literacy ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนและการป้องกันโรค
- Regulatory Body ต้องมีแนวทางปฏิบัติที่ช่วยลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก ทั้งในส่วนของผู้ยื่นขอขึ้นทะเบียน และผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูล และใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาร่วมกัน เพื่อสร้างให้เกิดมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- Public Trust การสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยการสื่อสารจากภาครัฐสู่ประชาชน ให้ความเข้าใจถึงกระบวนการต่าง ๆ ที่ใช้ในการพิจารณาการขึ้นทะเบียน การออกคำแนะนำอย่างโปร่งใส และประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ทั้งนี้เพื่อลดความกังขา และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
- Technical Difficulty ซึ่งมีลักษณะที่จำเพาะต่อผลิตภัณฑ์อย่างวัคซีน ซึ่งเป็น biological product ซึ่งจำเป็นต้องผ่านกระบวนการศึกษาพัฒนา และควบคุมคุณภาพในระดับที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์ยาทั่ว ๆ ไป ทำให้มีต้นทุนในการพัฒนาที่สูง ใช้ระยะเวลายาวนานจนไปถึงการขึ้นทะเบียนที่ต้องมีหลักเกณฑ์ที่จำเพาะเจาะจง ด้วยเหตุนี้ทำให้มีจำนวนผู้พัฒนาที่จำกัด นโยบายจากภาครัฐในการที่จะช่วยเหลือผู้ผลิตรายย่อย และความร่วมมือในการส่งผ่านเทคโนโลยี รวมไปถึง regulatory body ในการออกเกณฑ์ที่จะช่วยแนะแนวทางของการพัฒนาวัคซีนตั้งแต่การศึกษาวิจัยไปจนถึงการขึ้นทะเบียน จะช่วยให้ลดความยุ่งยากลงไปได้”
ไฟเซอร์มีความมุ่งมั่นเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งในความร่วมมือกับบุคลากร และสถาบันทางการแพทย์ต่าง ๆ ตลอดจนมหาวิทยาลัย รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ และชุมชนท้องถิ่นในการสนับสนุนการศึกษาด้านสุขภาพและการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคต่าง ๆ ตลอดจนสนับสนุนการเข้าถึงยาและวัคซีนที่มีคุณภาพเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ยังเล็งเห็นความสำคัญของความเสมอภาค ความเท่าเทียมและเป็นธรรมในการรับบริการทางสุขภาพ และสาธารณสุข นอกจากความรับผิดชอบต่อผู้ป่วยแล้ว ไฟเซอร์ มีนโยบายในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน