ยอดเข้าชม : 7
นิเวศสื่อสุขภาวะ: การพัฒนาเด็กผ่าน 3 ดี
ชุมชนบ้านร่องห้า มีครอบครัวที่ร่วมโครงการ 15 ครอบครัว มีการจัดกิจกรรมเรียนรู้ผ่านสื่อสร้างสรรค์และพื้นที่สร้างสรรค์ ทั้งในระดับครอบครัวและระดับชุมชน โดยมีการประยุกต์ใช้กระบวนการสื่อสร้างสรรค์ 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี)ในพื้นที่บ้านร่องห้า ได้แก่
- สื่อดี การใช้สื่อสร้างสรรค์ เช่น นิทานพื้นบ้าน ภาพประกอบจากธรรมชาติ และสื่อการสอนที่ออกแบบโดยครูและผู้รู้ในชุมชน เพื่อกระตุ้นการคิดวิเคราะห์และการเรียนรู้ด้วยตนเองของเด็ก
- พื้นที่ดี การพัฒนาสภาพแวดล้อมในศูนย์เด็กเล็ก ครอบครัว และชุมชนให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ เช่น ลานกิจกรรมกลางแจ้ง มุมอ่านหนังสือในบ้าน และแหล่งเรียนรู้จากธรรมชาติ
- ภูมิดี การบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การใช้ความรู้จากผู้เฒ่าผู้แก่ หรือช่างฝีมือในชุมชนในการถ่ายทอดทักษะชีวิตและวัฒนธรรมพื้นบ้านแก่เด็ก
กิจกรรมสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านร่องห้า
- กิจกรรม “นิทานจากธรรมชาติ” จัดขึ้นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยมีครูและผู้สูงอายุในชุมชนเล่านิทานเกี่ยวกับธรรมชาติและวิถีชีวิตท้องถิ่น พร้อมให้เด็กได้วาดภาพประกอบเรื่องราวที่ได้ยิน เพื่อส่งเสริมจินตนาการและการสื่อสาร
- “มุมเรียนรู้ในบ้าน” สำหรับครอบครัว เชิญชวนผู้ปกครองสร้างมุมอ่านหนังสือเล็ก ๆ ในบ้าน และส่งเสริมกิจกรรมเล่านิทานก่อนนอน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว
- กิจกรรม “ลานภูมิปัญญา” พื้นที่จัดแสดงงานฝีมือ เช่น การทำไม้กวาดดอกหญ้า การปั้นดินเผา และการสานปลาตะเพียน โดยเด็กสามารถทดลองทำร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในชุมชน
- “สวนผักสามดี” จัดสรรพื้นที่ในชุมชนสำหรับปลูกผักสวนครัวแบบปลอดสารพิษ โดยให้เด็กและครอบครัวร่วมกันดูแล ช่วยเสริมทักษะชีวิตและปลูกฝังการรักษาสิ่งแวดล้อม
ขยายผลจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสู่ชุมชนสามดี
นางธมน วงศ์วาลแก้ว หรือครูปุ้ย หัวหน้าโครงการ และเป็นครูประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านร่องห้า บอกว่า “โครงการมุ่งสู่การสร้าง “ครอบครัวสามดี” และ “ชุมชนสามดี” โดยสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีบทบาทร่วมกันในกระบวนการพัฒนา เช่น การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างแนวทางการพัฒนาร่วมกัน หรือการจัดกิจกรรมที่เน้นความร่วมมือระหว่างศูนย์เด็กเล็ก ครอบครัว และองค์กรในชุมชน ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากคณะกรรมการบริหารศูนย์ และสมาชิกครอบครัวของเด็กๆ
ด้านนายโกสินทร์ ศรีบรรเทา คณะกรรมการบริการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และผู้ใหญ่บ้าน ม.16 ผู้มีบทบาทสำคัญของการเชื่อมต่อจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสู่ชุมชน บอกว่า “การมีส่วนร่วมจากชุมชนช่วยสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการดูแลเด็กอย่างยั่งยืน เช่น การใช้พื้นที่ว่างในชุมชนเป็นสนามเด็กเล่นสร้างสรรค์ การจัดงานประเพณีที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างรุ่น และการส่งเสริมวัฒนธรรมการช่วยเหลือกันในละแวกบ้าน”
นายไพรณรงค์ บัวเทศ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบ้านต๋อม ในฐานของผู้ที่ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินร่วมกับครู และชุมชน มาอย่างต่อเนื่อง กล่าวเพิ่มเติม ว่า “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านร่องห้าดูแลเด็กอายุ 2-5 ปี โดยได้เริ่มต้นโครงการนี้กับ 15 ครอบครัวในชุมชน เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการเด็กผ่านสื่อสร้างสรรค์และพื้นที่สร้างสรรค์ ทั้งในระดับครอบครัวและระดับชุมชน อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าการมีส่วนร่วมจากครอบครัวและองค์กรในชุมชนยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด คณะทำงานจึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนากระบวนการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ด้วยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในชุมชน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อเด็กและครอบครัวในระยะยาว”
ร่วมมือสร้าง “พื้นที่สร้างสรรค์” ในชุมชน
นางสาวสรวงธร นาวาผล ผู้อำนวยการกลุ่ม wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์ สรุปทิ้งท้าย ว่า “โครงการ “มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ 3 ดี” ต้องการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน หรือหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสร้างต้นแบบครอบครัวและพื้นที่ที่เป็นมิตรสำหรับเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านร่องห้า เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้าง “ระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ” ที่เข้มแข็ง ผ่านการแบ่งปันความรู้ การออกแบบพื้นที่ และการสร้างกิจกรรมร่วมกัน มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอนาคตที่สดใสสำหรับเด็กปฐมวัยในชุมชนของเรา เพราะ “มหัศจรรย์” เกิดขึ้นได้เมื่อทุกคนร่วมมือกัน
พื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัยในบ้านร่องห้าไม่ได้มีเพียงเป้าหมายเพื่อการเรียนรู้ของเด็กเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนในชุมชน กิจกรรมที่จัดขึ้นในพื้นที่นี้จะช่วยเสริมสร้างความสามัคคีและการพึ่งพาอาศัยกันของสมาชิกในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยทำงาน หรือผู้สูงอายุ
พื้นที่เหล่านี้จะถูกออกแบบโดยการมีส่วนร่วมของทุกคนในชุมชน เช่น การจัด “มุมอ่านหนังสือ” ในบ้าน การปรับพื้นที่เป็น “มุมสำหรับเด็กๆ” การปรับปรุงลานกิจกรรมในชุมชนให้เป็นพื้นที่ที่เด็กและผู้ใหญ่สามารถเรียนรู้และเล่นร่วมกันได้ หรือ การสร้างมุมกิจกรรมครอบครัวที่ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อ แม่ และลูกที่ดำเนินการได้ในทุกๆวันจากที่บ้าน
โดย กลุ่ม wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์