สสส และ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.หลักสาม เติม พลังสร้างสรรค์เพื่ออนาคตเด็กปฐมวัยผ่าน “กล่องมหัศจรรย์”

พื้นที่ตำบลหลักสาม  อำเภอบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร  เป็นพื้นที่เกษตรกรรมและประมง เช่น การเลี้ยงกุ้ง ปลากระชัง และปลาสวยงาม อย่างไรก็ตาม ครอบครัวส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างหรือทำงานในโรงงาน ทำให้ผู้ปกครองไม่มีเวลาเพียงพอสำหรับดูแลเด็ก  เด็กหลายคนจึงต้องอยู่ในความดูแลของปู่ ย่า หรือตา ยาย ส่งผลให้เด็กใช้สื่อออนไลน์ เช่น โทรศัพท์มือถือ โดยขาดการควบคุมอย่างเหมาะสม

โครงการ “ครอบครัว 3 ดี” ภายใต้แนวคิด “มหัศจรรย์นิเวศสื่อสุขภาวะเพื่อเด็กปฐมวัย” โดยการสนับสนุนจากสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก11) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ภายใต้การบริหารงานโดยกลุ่ม wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์  เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.หลักสาม เพื่อส่งเสริมสุขภาวะและพัฒนาการรอบด้านของเด็กปฐมวัยในชุมชน  มีจุดเริ่มต้นจากความต้องการที่จะลดปัจจัยเสี่ยงทางด้านการใช้สื่อหน้าจอของเด็กและเพิ่มโอกาสทางการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัยในชุมชน โดยเน้นให้ครอบครัวเป็นแกนกลางของการพัฒนา และเชื่อมโยงทรัพยากรชุมชน เช่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น และพื้นที่สาธารณะ มาใช้ในการส่งเสริมการเรียนรู้

นางเมตตา ตะพัง ผู้อำนวยการกองการศึกษาฯ  กล่าวว่า  “โครงการมหัศจรรย์นิเวศสื่อสุขภาวะเพื่อเด็กปฐมวัย ช่วยเสริมสร้างพื้นฐานการเรียนรู้และพัฒนาการที่มั่นคงให้แก่เด็กในชุมชนตำบลหลักสาม เราไม่ได้เพียงแต่ให้เด็กได้รับความรู้ในห้องเรียน แต่เรายังสร้างโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้จากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงหน่วยงานต่างๆ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงความภาคภูมิใจของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก แต่ยังเป็นแรงผลักดันให้เกิดความสุข ที่ส่งผลต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป”

คำพูดนี้สะท้อนถึงความตั้งใจในการส่งเสริมการเรียนรู้แบบองค์รวมและเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืนสำหรับเด็กปฐมวัยในตำบลหลักสาม

 สื่อไม่สำเร็จรูป: พื้นฐานแห่งการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์

หนึ่งในจุดเด่นของโครงการคือการนำ “สื่อไม่สำเร็จรูป” มาใช้ ซึ่งเป็นสื่อที่เปิดโอกาสให้เด็กสามารถเล่นและปรับเปลี่ยนตามจินตนาการของตนเองได้อย่างสร้างสรรค์  ตัวอย่างเช่น ไม้บล็อก ไม้หนีบ ตุ๊กตาถุงกระดาษ รวมถึงเกมการศึกษาต่าง ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในเชิงสร้างสรรค์ สื่อเหล่านี้ช่วยกระตุ้นให้เด็กได้ฝึกการคิดอย่างเป็นระบบ การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของวัตถุต่าง ๆ และพัฒนาสติปัญญาผ่านการออกแบบและการเล่นด้วยตัวเอง

กล่องมหัศจรรย์: สื่อการเรียนรู้เพื่อเด็กและครอบครัว

 โครงการได้ริเริ่มการสร้าง “กล่องมหัศจรรย์” ซึ่งเป็นชุดสื่อการเรียนรู้ที่ประกอบด้วยวัสดุและอุปกรณ์ที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก โดยเนื้อหาของกล่องมหัศจรรย์ถูกออกแบบให้ผู้ปกครองสามารถใช้ร่วมกับเด็กในกิจกรรมครอบครัว เช่น การเล่นเกมสร้างสรรค์ การประดิษฐ์ของเล่นจากวัสดุในกล่อง หรือการเล่านิทานโดยใช้ตัวละครจากตุ๊กตาถุงกระดาษ

กล่องมหัศจรรย์ นี้ไม่เพียงแต่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ ระหว่างผู้ปกครองและเด็กในครอบครัว อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้และเข้าใจพัฒนาการของลูก ได้ใช้เวลาร่วมกัน ลดเวลาการใช้หน้าจอลงได้

 

การสร้าง “ครอบครัว 3 ดี” ผ่านสื่อและกิจกรรมสร้างสรรค์

“ครอบครัว 3 ดี” คือการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวผ่านสื่อ และกิจกรรมที่หลากหลาย ด้วยแนวคิด 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) ส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัย โดยมีกิจกรรมดังนี้

  • กิจกรรมสร้างสรรค์ในครอบครัว ผู้ปกครองและเด็กได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่สร้างเสริมสายสัมพันธ์ เช่น การประดิษฐ์ของเล่นจากภูมิปัญญาท้องถิ่น การทำอาหารง่าย ๆ ร่วมกัน หรือการเล่นเกมแบบมีปฏิสัมพันธ์
  • การผลิตและใช้สื่อสร้างสุขภาวะ ครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจัดทำสื่อสร้างสรรค์ เช่น หนังสือนิทาน ของเล่นจากธรรมชาติ เกมการศึกษาต่างๆให้เด็กเรียนรู้
  • การให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง มีการจัดเวิร์กช็อปและบรรยายเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีเลี้ยงดูเด็ก เช่น โภชนาการที่เหมาะสม การส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวก และการจัดการเวลาเพื่อใช้ร่วมกับลูก โดยสร้างความร่วมมือกับโรงพยาบาลบ้านแพ้วเพื่อตรวจสุขภาพและให้คำแนะนำเกี่ยวกับโภชนาการและการพัฒนาทางกายภาพของเด็ก

  นางสาวประยูร   แย้มโสภี  ครูปฐมวัย จากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอบต.หลักสาม และเป็นผู้ดำเนินโครงการ กล่าวถึงผลที่เกิดขึ้นกับเด็ก ว่า เด็กๆมีพัฒนาการทางด้านร่างกายและอารมณ์ ดีขึ้น จากส่งเสริมด้านโภชนาการและกิจกรรมที่ส่งเสริมการเคลื่อนไหว เช่น การเล่นของเล่นกลางแจ้งหรือเกมกลุ่ม  ด้าน ความสัมพันธ์ในครอบครัว พบว่า ผู้ปกครองที่เข้าร่วมโครงการได้มีเวลาคุณภาพร่วมกับลูกมากขึ้น ส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น และมีความสุขกับการเรียนรู้  กิจกรรมหลายอย่างในโครงการช่วยเสริมให้เด็กเข้าใจถึงคุณค่าของสิ่งรอบตัว เช่น การปลูกผัก การดูแลสัตว์ หรือการเล่นเกมกิจกรรมจากภูมิปัญญาท้องถิ่น”

 ดร.สรวงธร นาวาผล  ผู้อำนวยการกลุ่ม wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์  ได้กล่าวถึงปัจจัยความสำเร็จ ของการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอบต.หลักสาม  ว่า การดำเนินงาน ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากแกนนำชุมชน หน่วยงานท้องถิ่น และผู้ปกครอง โดยเฉพาะในด้านการจัดกิจกรรมและสนับสนุนโครงการต่าง ๆ เช่น

  • การมีส่วนร่วมของชุมชน  แกนนำชุมชนและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลบ้านแพ้ว ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนด้านความรู้และการตรวจสุขภาพเด็ก ส่งเสริมความรู้ให้ผู้ปกครองอย่างสำมเสมอ
  • การสนับสนุนจาก อบต.หลักสาม  โครงการได้รับทรัพยากรและการจัดสรรพื้นที่สำหรับกิจกรรม เช่น ห้องประชุมสำหรับจัดการอบรม  และอุปกรณ์การเรียนรู้ ผู้บริหารให้ความสำคัญและใส่ใจในการพัฒนาเด็กอย่างสม่ำเสมอ
  • ความตั้งใจของผู้ปกครอง  แม้จะมีเวลาจำกัด ผู้ปกครองส่วนใหญ่แสดงความตั้งใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรม และนำแนวคิดจากโครงการไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ผู้ปกครองบางรายยังนำเมล็ดผักที่ได้รับแจกจากครูกลับไปปลูกที่บ้าน ส่งเสริมให้เด็กมีส่วนร่วมและเรียนรู้ในระดับครอบครัว
  • ครูมีความมุ่งมั่น   การส่งเสริม และถ่ายทอดกระบวนการใช้สื่อและติดตามผลกับครอบครัว ถือว่าเป็นการกระตุ้นที่สำคัญยิ่ง และครูสามารถกระตุ้นสร้างความร่วมมือกับครอบครัวได้เป็นอย่างดี

โครงการ “ครอบครัว 3 ดี” เป็นตัวอย่างของการประยุกต์ใช้ทรัพยากรในชุมชนและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กปฐมวัย  แม้จะยังมีจำกัดในเรื่องพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เช่น ขาดสนามเด็กเล่นหรือพื้นที่เรียนรู้ในธรรมชาติ ซึ่งส่งผลให้พัฒนาการบางด้านของเด็กยังไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างเต็มที่ ในอนาคต ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีแผนที่จะเพิ่มกิจกรรมที่เน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของครอบครัวในกิจกรรมของเด็กมากขึ้น  เพื่อช่วยให้เด็กได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านและเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้อต่อการเรียนรู้
โดย กลุ่มwearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์