ยอดเข้าชม : 146
การสื่อสารในประเด็น “เชื้อดื้อยา” เพื่อให้คนส่วนใหญ่รับรู้ เข้าใจ ถึงผลกระทบ และร่วมกันป้องกัน เป็นเรื่องที่องค์กรที่ทำงานด้านนี้ได้พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ได้ร่วม MORU และภาคีเครือข่าย จากการสนับสนุนของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประกวดภาพวาดการ์ตูน ”เชื้อดื้อยา” ภายใต้หัวข้อที่กำหนดไว้ได้แก่ เชื้อดื้อยาและถิ่นที่อยู่, เชื้อดื้อยาในโลกอนาคต และไฝว้กับเชื้อดื้อยายังไงให้รอด ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของการจัดงาน “สัปดาห์รู้รักษ์ตระหนักปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ ปี 2567” จัดขึ้นที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผลงานที่ได้รางวัลชนะเลิศเป็นการสร้างสรรค์ร่วมระหว่าง น.ส.ภัทรธิดา บุตรดีวงศ์ และ น.ส.ชนากานต์ สุขคล้า นักศึกษาชั้นปีที่ 2 จากคณะแพทยศาสตร์ สาขาเวชนิทัศน์ มหาวิทยาลัย ขอนแก่น ในหัวข้อ “เชื้อดื้อยาและถิ่นที่อยู่” ซึ่งเจ้าของผลงานทั้งสอง แจงที่มาของแนวคิดการออกแบบการ์ตูน จนกระทั่งคว้ารางวัลชนะเลิศสำเร็จว่า เชื้อดื้อยาซ่อนตัวอยู่ในหลากหลายพื้นที่ ทุกคนจึงมีโอกาสที่จะสัมผัสกับเชื้อดื้อยา จึงเกิดไอเดียนำเสนอผลงานในรูปแบบการสืบสวน ในการวาดการ์ตูนเปรียบเสมือนกับการตามรอยฆาตกร
ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เป็นผลงานของ นายสิมโรจน์ พิมาศกมลพัฒน์ นักศึกษาวิทยาลัยอาชีวลำปาง สาขาดิจิทัลกราฟิก ในหัวข้อ “ไฝว้กับเชื้อดื้อยายังไงให้รอด” ทั้งนี้เจ้าตัวยอมรับว่าเป็นเรื่องค่อนข้างยาก แต่ก็ได้ใช้ความพยายามตีโจทย์ หาข้อมูล สร้างแรงบันดาลใจให้กับตนเอง จนความคิดตกผลึก “อยากสื่อให้ทุกคนเข้าใจสาเหตุของเชื้อดื้อยา และ รับมือกับมันในรูปแบบการ์ตูนคอมมิค เพื่อให้ทุกคนเข้าใจง่าย และนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้อง ”
และรางวัลชนะเลิศ อันดับ 2 เป็นของ น.ส.ชญาทิศ นิธิรัถยา จากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ กรุงเทพฯ ซึ่งได้หยิบยกข้อปฏิบัติง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้ มาถ่ายทอดผ่านผลงาน “การล้างมือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว เป็นการตอกย้ำให้ทุกคนได้เห็นว่า เพียงแค่ล้างมือให้สะอาด ทำให้เราห่างจากเชื้อดื้อยาได้ ซึ่งก็ตรงกับหัวข้อที่เลือก คือเชื้อดื้อยาใกล้กว่าที่คิด ระวังให้ดี ”
ทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ นักวาดการ์ตูนการเมือง กรรมการที่ร่วมการตัดสินครั้งนี้ เผยถึงความรู้สึกที่มีต่อผลงานของผู้ที่ได้รับรางวัลนี้ว่า “ผลงานทุกชิ้นถ่ายทอดออกมาได้อย่างน่าทึ่ง สำหรับคนในวัยนี้ ซึ่งได้ทำการบ้านมาเป็นอย่างดี ผ่านการอ่านเรื่องเชื้อดื้อยา นำไปวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล แล้วนำมาออกแบบเป็นภาพการ์ตูนเพื่อสื่อสาร ถือว่าเป็นการเริ่มต้นในเส้นทางนี้ได้ดีมาก อย่างเช่น ผลงานที่ชนะเลิศ มีความโดดเด่นทั้งด้านสีสันและเนื้อหา สาระ ความพิเศษมีตั้งแต่หัวเรื่องที่มีความสะดุดตาน่าอ่านผ่านการออกแบบ”
ด้าน ผศ.ดร. ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวถึงการประกวดภาพวาดการ์ตูนเพื่อสื่อสาร “เชื้อดื้อยา” ในปีนี้ว่า มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดทั้งสิ้นจำนวน 337 ภาพ โดยเกณฑ์พิจารณาหลักๆ ได้แก่ เนื้อหามีความเกี่ยวข้องกับหัวข้อการประกวด มีการใช้ AI ในการสร้างสรรค์ผลงาน ภาพและเนื้อหามีความสมบูรณ์แบบ โดยแบ่งผู้ชนะทั้ง 3 รางวัลจะได้รับใบประกาศเกียรติคุณพร้อมเงินรางวัลมูลค่ารวม 30,000 บาท
“เราต้องการกระตุ้นให้เยาวชน มีความสนใจ และตระหนักในประเด็นเรื่องเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ จึงมองหาสื่อมาเป็นเครื่องมือสื่อสารไปสู่วงกว้าง เชื้อดื้อยาเป็นเรื่องซับซ้อน เข้าใจยาก ที่สำคัญหากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะตกไปถึงคนรุ่นใหม่ ที่จะได้รับผลกระทบ เราจึงอยากส่งไม้ต่อให้มีการสื่อสารไปสู่รุ่นต่อๆ ไป” ผอ.กพย. กล่าวเสริมว่า “ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาถึง 38,000 คนต่อปี จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนจะต้องทำความเข้าใจกับเรื่อง”เชื้อดื้อยา”เพราะหากใครได้รับเข้าไปก็จะส่งผลกระทบต่อชีวิต ซึ่งยารักษาเชื้อดื้อยามีไม่มากนัก แถมยังมีราคาแพง ยาบางชนิดก็มีผลข้างเคียง ทำให้การรักษายุ่งยากใช้เวลานาน”
สำหรับผู้สนใจชมผลงานการ์ตูนคอมมิค “เชื้อดื้อยา” จากผลงานของผู้ที่ได้รับรางวัลทั้ง 3 รางวัล สามารถเข้าไปชมได้ที่ Facebook สาระ ณสุข: เพจที่ให้สาระด้านสาธารณสุข และที่เว็บไซต์ www.thaidrugwatch.org ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
**********************