ยอดเข้าชม : 12
จุดเริ่มต้นแห่งการสร้างสรรค์พื้นที่สุขภาวะ
โครงการนี้โครงการ “ครอบครัว 3 ดี” ภายใต้แนวคิด “มหัศจรรย์นิเวศสื่อสุขภาวะเพื่อเด็กปฐมวัย” โดยการสนับสนุนจากสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก11) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ภายใต้การบริหารงานโดยกลุ่ม wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์ มุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์พื้นที่ปลอดภัยและกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กเติบโตอย่างสมวัย พร้อมทั้งส่งเสริมบทบาทของพ่อแม่ ผู้ปกครอง และทุกภาคส่วนในชุมชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็ก ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเดิดจะได้ยินเสียงหัวเราะของเด็กๆ ที่วิ่งเล่นในพื้นที่ดี ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย โดยความร่วมมือของชุมชน มีโค้ชเด็กในชุมชนดูแลอย่างใกล้ชิด มีพ่อแม่ ผู้ใหญ่ใจดีร่วมสนับสนุน สิ่งสำคัญคือ “การเรียนรู้ผ่านการเล่น” จากสื่อ กิจกรรม และพื้นที่สร้างสรรค์ ซึ่งเด็กๆ ได้มีโอกาสพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา
ปลุกหัวใจชุมชน สร้างครอบครัวที่เข้มแข็ง
โครงการนี้แม้กลุ่มเป้าหมายจะเป็นเด็กปฐมวัย แต่การทำงานเน้นให้ครอบครัวเป็นศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลง ผู้ปกครองได้รับเชิญชวนให้เข้ามามีบทบาทสำคัญในกิจกรรมของโครงการ ผ่านแนวคิดของ ครอบครัว 3 ดี คือ ครอบครัวตัวอย่างที่ใช้กระบวนการสื่อหรือพื้นที่สร้างสรรค์ไปประยุกต์ใช้กับเด็กในครอบครัว และเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมของศูนย์ฯ อย่างสม่ำเสมอตลอดโครงการ สามารถบอกเล่า/อธิบายการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็กและครอบครัวได้ และครอบครัวร่วมจัดพื้นที่สร้างสรรค์ในบ้าน เช่น มุมหนังสือ มุมเล่นอิสระ มุมการเรียนรู้ต่างๆ หรือพื้นที่เอื้อต่อกิจกรรมทางกาย เช่น การอ่านหนังสือนิทานร่วมกับลูก การสร้างของเล่นจากวัสดุเหลือใช้ และการร่วมปรับปรุงพื้นที่เล่นให้ปลอดภัย
กิจกรรมที่จัดขึ้นทุกวันอาทิตย์ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเดิด และศาลาวัดบ้านนาคำ กลายเป็นเวทีที่ทุกครอบครัวได้มาพบปะและสนุกไปกับกิจกรรม 3 ดี กิจกรรมเหล่านี้สร้างความสุขให้กับเด็กและครอบครัว ช่วยลดการใช้หน้าจอมือถือของเด็ก ได้แก่
- ดีจากการเล่น เล่นจักรยานขาไถ ฮูล่าฮูป และกิจกรรมกลางแจ้ง
- ดีจากการเรียนรู้ อ่านนิทาน ประดิษฐ์ของเล่น และทำกิจกรรมศิลปะร่วมกัน
- ดีจากการสร้างสัมพันธ์ พี่ดูแลน้อง เด็กๆ เล่นร่วมกัน สร้างมิตรภาพระหว่างวัย
เสียงสะท้อนจากผู้มีบทบาทสำคัญ
พรทิพา แซ่ลิ้ม รองปลัดเทศบาลตำบลเดิด กล่าวถึงแนวคิดการบูรณาการ ครอบครัว 3 ดี กับการทำงานสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในพื้นที่ ว่า “เรามี ครอบครัว 3 ดี คือครอบครัวต้นแบบที่นำแนวคิดพื้นที่สร้างสรรค์และกระบวนการสื่อดีๆ ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การจัดมุมหนังสือ มุมเล่น หรือมุมเรียนรู้ในบ้านของตัวเอง 70 ครอบครัว ความพิเศษของครอบครัวเหล่านี้คือ พวกเขาสามารถบอกเล่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวเด็กและในครอบครัวได้อย่างชัดเจน ทั้งในด้านพัฒนาการ อารมณ์ และความสัมพันธ์ในครอบครัว”
ดวงใจ ทองแก้ว นักวิชาการศึกษาชำนาญการ ผู้เป็นแรงผลักดันสำคัญของโครงการนี้ กล่าวว่า “การพัฒนาเด็กปฐมวัยไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนในชุมชน เราอยากให้เด็กๆ เติบโตในพื้นที่ที่ปลอดภัยและเต็มไปด้วยความรัก ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงพื้นที่ การสร้างกิจกรรม หรือเพียงแค่การให้เวลากับลูกหลานของเรา”
หัวใจของผลลัพธ์คือความร่วมมือในชุมชน
ความสำเร็จของโครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ตั้งแต่คุณครูปฐมวัย ทีมโค้ชเด็กในชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ไปจนถึงผู้บริหารและหน่วยงานต่างๆ เช่น ค่ายบดินทรเดชา ที่สนับสนุนทั้งกำลังพลและวัสดุอุปกรณ์มาร่วมพัฒนาให้เกิดพื้นที่กิจกรรมทางกาย พื้นที่สนามสร้างสรรค์ให้กับเด็กๆ กลายเป็นพื้นที่เล่นของเด็กๆ ที่ปลอดภัย โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์เล่น เช่น ตาข่ายปีนป่าย และพื้นที่วิ่งเล่นกลางแจ้ง พร้อมทั้งมีการออกแบบกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็ก ส่งเสริมให้เด็กและผู้ปกครองได้มีเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การระบายสี การทำหน้ากากจากเศษวัสดุ และการอ่านนิทานเสียงดัง เด็กๆ ได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณค่า โดยมีผู้ใหญ่ใจดีคอยดูแล เหล่านี้กลายเป็นนิเวศสื่อ รอบตัวที่สร้างสุขภาวะให้กับเด็กๆได้มีพัฒนาการที่สมวัย
ทั้งนี้ ดร.สรวงธร นาวาผล ผู้อำนวยการกลุ่ม wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์ กล่าวแนะนำ เพิ่มเติมถึงการสร้างนิเวศสื่อสุขภาวะแบบ 3 ดี ว่า “การเติบโตของเด็กๆ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในบ้านหรือโรงเรียน แต่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของทุกคนในชุมชน การสานต่อกิจกรรมจากโครงการนี้จะยิ่งประสบความสำเร็จ หากชุมชนและผู้ปกครองมีความร่วมมือและมุ่งมั่นที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับเด็ก ความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นจากคนใดคนหนึ่ง แต่เกิดจากทุกคนในชุมชนที่ร่วมกันดูแล สร้างสรรค์ และส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับเด็กๆ ซึ่งเป็นอนาคตของเรา” โดยสามารถทำได้ดังนี้
1) สร้างเครือข่ายชุมชนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมเด็ก โดย ตั้งกลุ่มหรือคณะทำงานที่มีตัวแทนจากทุกฝ่าย เช่น ผู้ปกครอง ครูปฐมวัย ผู้นำชุมชน และองค์กรในพื้นที่ เพื่อช่วยกันวางแผนและจัดกิจกรรม มีการ พัฒนา “พื้นที่สร้างสรรค์” เพิ่มเติมในชุมชน เช่น ศาลาวัด สนามเด็กเล่นกลางแจ้ง หรือศูนย์อ่านหนังสือ
2) จัดกิจกรรมประจำชุมชน เช่นกำหนดวันหรือเวลาเป็นประจำ (เช่น ทุกวันอาทิตย์) เพื่อให้เด็กๆ และครอบครัวมารวมตัวทำกิจกรรม เช่น การอ่านหนังสือร่วมกัน เล่นกีฬา หรือกิจกรรมศิลปะ เชิญผู้มีความรู้ในชุมชน เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน หรือผู้มีทักษะเฉพาะด้าน มาเป็นวิทยากรหรือโค้ชให้เด็กๆ
3) สร้างคลังสื่อและของเล่นจัดทำเป็นธนาคารสื่อสร้างสรรค์ โดยสามารถนำสื่อที่ครูผลิตมา ตั้งจุดยืมหนังสือ นิทาน หรือของเล่นสร้างสรรค์ในชุมชน เช่น ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือวัด กระตุ้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมอาจเป็นการบริจาคหนังสือ ของเล่น หรืออุปกรณ์เสริมพัฒนาการเด็ก