สสส.ร่วมกับศูนย์การศึกษาพิเศษ จ.บุรีรัมย์ สร้าง “มหัศจรรย์นิเวศสื่อสุขภาวะ” เพื่อเด็กปฐมวัยและเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

เด็กทุกคนมีศักยภาพในการเรียนรู้และเติบโต แต่สำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง สื่อสุขภาวะที่ออกแบบอย่างสร้างสรรค์ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่เหมาะสมกับช่วงวัย และกระตุ้นให้เด็กพัฒนาทักษะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการสื่อสาร การเคลื่อนไหว หรืออารมณ์และสังคม  อย่างไรก็ตาม การใช้สื่อเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสม เช่น การปล่อยให้เด็กอยู่กับโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตเป็นเวลานาน อาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กในหลายด้าน ทั้งพฤติกรรม ก้าวร้าว พูดช้า หรือขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

โครงการ “มหัศจรรย์นิเวศสื่อสุขภาวะเพื่อเด็กปฐมวัย” จึงเป็นหนึ่งในความพยายามสำคัญที่พัฒนา “ระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ” โดยเฉพาะสำหรับเด็กปฐมวัย และเมื่อแนวคิดนี้มาผสานกับการออกแบบสื่อเพื่อเด็กที่มีความต้องการพิเศษ จะช่วยสร้างระบบสนับสนุนที่เข้าถึงและเท่าเทียมสำหรับเด็กทุกคนในสังคม   การพัฒนาเด็กที่มีความต้องการพิเศษไม่สามารถสำเร็จได้โดยการทำงานของบุคคลหรือหน่วยงานเพียงลำพัง แต่ต้องการการมีส่วนร่วมจากชุมชน ผู้ปกครอง ครู และหน่วยงานท้องถิ่น การสร้างความเข้าใจในบทบาทของ “ช่วงเวลาทอง” ของเด็กปฐมวัยจึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ

ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดบุรีรัมย์  ได้ดำเนิน กิจกรรม  “Golden Period กับการพัฒนาเด็ก Gen Alpha” โดยมุ่งเน้นให้ครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและผู้เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญของช่วงเวลาทองของเด็ก  พร้อมสร้างสรรค์กิจกรรมและพื้นที่เรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัย

นางสาวพันทิวา หทยาภิรมย์ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดบุรีรัมย์  กล่าวว่า การสร้างระบบนิเวศที่ดีสำหรับเด็กต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง ครู ผู้บริหารชุมชน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง    ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดบุรีรัมย์  จึงได้จัดโครงการฯ ขึ้นมาเพื่อร่วมกันป้องกัน คัดกรอง ชวนทุกคนที่เป็นผู้ใกล้ชิดเกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย  มาร่วมกันส่วนหนึ่งในการพัฒนาสื่อสุขภาวะสำหรับเด็ก เพราะเมื่อเด็ก ๆ ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการอย่างเหมาะสม พวกเขาจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของสังคมในอนาคต ส่งเสริมให้เด็กก้าวข้ามช่วง Golden Period หรือช่วงเวลาทอง ได้อย่างเหมาะสม

ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ มีการดำเนินงานให้บริการทางการศึกษาแก่นักเรียนพิการที่มารับบริการที่ศูนย์ หน่วยบริการ และรับบริการที่บ้าน โดยมีคณะครูผู้รับผิดชอบแต่ละอำเภอครบทั้ง 23 อำเภอ ในจังหวัดบุรีรัมย์ การลงพื้นที่ให้บริการการศึกษาและติดตามพัฒนาการของนักเรียนขณะอยู่ที่บ้านนั้น พบว่า ผู้ปกครองหลายครอบครัวใช้โทรศัพท์มือถือในการส่งเสริมพัฒนาการนักเรียนพิการ ซึ่งส่งผลเชิงลบต่อพัฒนาการด้านสติปัญญา การรู้คิด ภาษา พฤติกรรม เช่น ก้าวร้าว ต่อต้าน นอนหลับยาก เป็นต้น  ครอบครัวขาดการให้เวลาคุณภาพกับนักเรียนพิการ ที่เป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่จะได้แสดงความรักความเอาใจใส่ พูดคุย และทำกิจกรรมร่วมกันโดยไม่ใช้โทรทัศน์ และโทรศัพท์มือถือ จากข้อมูลของโรงพยาบาลบุรีรัมย์ ที่ดำเนินการคัดกรองพัฒนาการเด็ก ๐-๕ ปี ตามโครงการ มหัศจรรย์ ๑๐๐๐ วันแรกแห่งชีวิต Plus พบว่า ร้อยละ ๑๒.๖๒ มีพัฒนาการล่าช้า เหล่านี้เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ ต้องเร่งส่งเสริม ป้องกันและแก้ไข ในช่วงเวลาทองของการเรียนรู้ของเด็กเพื่อช่วยให้เด็กกลับมาเรียนรู้และมีพัฒนาการสมวัย

โดยนางสาวสายใจ คงทน  กลุ่ม wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์  ทีมงานบริหารโครงการ โดยการสนับสนุนจากสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก11) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)   กล่าวว่า  “สื่อสุขภาวะสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ”  ไม่ใช่เพียงเครื่องมือ แต่ คือ สะพานที่เชื่อมต่อความเข้าใจและความเอื้ออาทรระหว่างเด็ก ครอบครัว และสังคม   โดยสามารถใช้ แนวคิด 3 ดี สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี เข้ามาส่งเสริมให้เด็กได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมเพื่อลดภาวะของการบกพร่องทางเรียนรู้ ของเด็กได้ ดังนี้

3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) กับการออกแบบสื่อเพื่อเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

     1.สื่อดี

  • สำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ สื่อสร้างสรรค์ต้องปรับให้เหมาะสมกับความสามารถและการเรียนรู้เฉพาะของเด็ก เช่น การใช้ภาพประกอบที่ชัดเจน สื่อเสียงที่ชัดเจนและมีจังหวะที่เหมาะสม หรือสื่อสัมผัส  ที่ส่งเสริมประสาทสัมผัสทั้งเสียง กลิ่น การจับ
  • การพัฒนาสื่อยังต้องคำนึงถึงความหลากหลาย เช่น สื่อที่ช่วยพัฒนาการสื่อสารสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องด้านการพูด หรือเกมการเรียนรู้ที่ช่วยเสริมสมาธิสำหรับเด็กที่มีภาวะออทิสติก
  1. พื้นที่ดี
  • พื้นที่การเรียนรู้สำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษควรออกแบบให้ปลอดภัยและรองรับความหลากหลาย เช่น พื้นที่เล่นที่ลดสิ่งกีดขวาง หรือการจัดมุมสงบสำหรับเด็กที่ต้องการสมาธิ
  • การสร้างพื้นที่การเรียนรู้แบบรวม (Inclusive Space) จะช่วยให้เด็กทุกคนสามารถเล่น เรียนรู้ และมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันได้อย่างเสมอภาค
  1. ภูมิดี
  • การพัฒนาภูมิคุ้มกันทางใจสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การสอนให้พวกเขาเข้าใจและจัดการอารมณ์ของตนเอง รวมถึงการสร้างความมั่นใจในศักยภาพของตนเอง
  • นอกจากนี้ การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมให้เด็กและครอบครัว เช่น การสร้างกลุ่มสนับสนุน (Support Group) หรือการจัดกิจกรรมร่วมกับชุมชน จะช่วยให้เด็กและผู้ปกครองได้รับกำลังใจและแรงสนับสนุน

 ชวนผู้ปกครองมาร่วมสร้าง “มหัศจรรย์” ไปด้วยกัน

ผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญในการสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับลูก โดยเฉพาะเด็กที่มีความต้องการพิเศษ โครงการนี้จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ระบบนิเวศที่อบอุ่น ปลอดภัย และสนับสนุนการพัฒนาของเด็กทุกคน ผ่านการร่วมมือกับครอบครัว ชุมชน และองค์กรต่าง ๆ โดยสิ่งที่ผู้ปกครองหรือผู้ที่ดูแลเด็กสามารถเริ่มทำได้ คือ

  • ร่วมเรียนรู้: ทำความเข้าใจความต้องการพิเศษของลูก และค้นหาเครื่องมือหรือสื่อที่เหมาะสม
  • สร้างพื้นที่ปลอดภัย: จัดพื้นที่ในบ้านให้เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้และการเล่น
  • แบ่งปันและเชื่อมโยง: เข้าร่วมกลุ่มผู้ปกครองเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างเครือข่ายสนับสนุน

ด้วยแนวคิดของการพัฒนานิเวศสื่อสุขภาวะเพื่อการเรียนรู้ของเด็ก  ด้วย 3 ดี(สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เราเชื่อว่าเด็กปฐมวัยและเด็กที่มีความต้องการพิเศษจะเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่เข้าใจและเห็นคุณค่าในตัวเขา

โดย กลุ่ม wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์