ยอดเข้าชม : 13
สำนักงาน กสทช. จัดงานสัมมนาวิชาการ กสทช. ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด Sprinting into the Digital Future โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอทิศทางการพัฒนาและการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม และกิจการดาวเทียมสื่อสารให้สอดรับกับกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมส่งเสริมให้ทุกคนในสังคมสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียม โดยในปีนี้ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กล่าวเปิดงานสัมมนา โดยมี นายนทชาติ จินตกานท์ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการ กล่าวรายงาน และเล่าถึงพัฒนาการของวารสาร และการเปลี่ยนชื่อเป็นวารสารกิจการสื่อสารดิจิทัล ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก จากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา
สำหรับวิทยากรในปีนี้ได้รับเกียรติจากนายต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ดร.อนันต์ลดา โชติมงคล นักวิจัยประจำทีมวิจัยเทคโนโลยีที่ทุกคนเข้าถึงและสิ่งอำนวยความสะดวก กลุ่มนวัตกรรมแพลตฟอร์มดิจิทัลสุขภาพการแพทย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และดร.นน อัครประเสริฐกุล ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ร่วมเสวนา
กสทช. ต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. กล่าวในหัวข้อ ตัวแบบ 10 นิ้ว เพื่อการออกแบบสำหรับทุกคน: สู่สังคมที่ครอบคลุมทุกคน (10 Fingers Model for Inclusive Design: Towards Accessible Communities for All) ว่า ในยุคที่สังคมมีความหลากหลายและกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การออกแบบสำหรับทุกคน (Inclusive Design) ได้กลายเป็นแนวคิดสำคัญในการพัฒนาสังคมที่เท่าเทียมและเข้าถึงได้ โดยโมเดล 10 นิ้ว นำเสนอกรอบแนวคิดที่ครอบคลุมผ่านการใช้นิ้วมือทั้งสิบเป็นสัญลักษณ์แทนองค์ประกอบสำคัญในการออกแบบ โมเดลนี้แบ่งการออกแบบเป็นสองส่วนหลัก ได้แก่ สภาพแวดล้อมทางกายภาพ ประกอบด้วยการออกแบบเมือง ภูมิทัศน์ สถาปัตยกรรม การออกแบบภายในและผลิตภัณฑ์ และส่วนเทคโนโลยีและมนุษย์ ซึ่งครอบคลมด้านบุคลากร ทักษะ อุปกรณ์อัจฉริยะ แอปพลิเคชั่นและการเชื่อมต่อ ผลการศึกษาพบว่า การออกแบบตามแนวคิดมีส่งผลกระทบเชิงบวกต่อคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ การมีส่วนร่วมในสังคม นวัตกรรม และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและผู้พิการ อีกทั้งยังสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ผ่านการขยายฐานผู้ใช้งานที่หลากหลาย
สำหรับประเทศไทย แม้จะมีความท้าทายในการนำแนวคิดนี้มาปฏิบัติ แต่มีข้อเสนอแนะที่สำคัญในการพัฒนา อาทิ การสร้างความตระหนักรู้ การปรับปรงนโยบายและกฎหมาย การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การนำโมเดล 10 นิ้วมาประยุกต์ใช้จะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาสังคมไทยสู่การเป็นสังคมที่ครอบคลุมและเข้าถึงได้สำหรับประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์
ดร.อนันต์ลดา โชติมงคล นักวิจัยประจำทีมวิจัยเทคโนโลยีที่ทุกคนเข้าถึงและสิ่งอำนวยความสะดวก กลุ่มนวัตกรรมแพลตฟอร์มดิจิทัลสุขภาพการแพทย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวในหัวข้อ เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเข้าถึงสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับคนทุกกลุ่ม (Digital Technology for Accessible Information and Communications) ว่า ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน ได้มีการพัฒนาแพลตตฟอร์มนวัตกรรมสำคัญเพื่อลดช่องว่างทางดิจิทัลและสร้างโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม โดยพัฒนาระบบริการดิจิทัลที่ครอบคลุมความต้องการของผู้ใช้ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้พิการและผู้สูงอายุ ซึ่งประกอบด้วยระบบสำคัญ 4 ด้าน ระบบแรก คือ บริการถ่ายทอดการสื่อสาร (Telecommunication Relay Service) ที่ช่วยให้ผู้พิการทางการได้ยินและการพูดสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยติดตั้งตั้งตู้ TTRS จำนวน 180 ตู้ ในที่สาธารณะทั่วประเทศ สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท
ระบบที่สอง คือ บริการคำบรรยายแทนเสียงแบบเรียลไทม์ ที่ช่วยให้ผู้พิการทางการได้ยินและผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงข้อมูลในการประชุมและรายการโทรทัศน์ได้อย่างทั่วถึง ระบบที่สาม คือ แพลตฟอร์มสื่ออ่านง่าย ที่ช่วยให้ผู้มีความบกพร่องทางการรับรู้และผู้สูงอายุสามารถเข้าใจข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น และระบสุดท้าย คือ ระบบเฝ้าระวังและตรวจสอบการเข้าถึงบริการดิจิทัล ที่ช่วยให้การพัฒนาบริการดิจิทัลต่าง ๆ เป็นไปตามมาตรฐานการเข้าถึงสำหรับคนพิการ นวัตกรรมเหล่านี้ไม่เพียงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้งาน แต่ยังสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ การพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างสังคมดิจิทัลที่เท่าเทียมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ดร.นน อัครประเสริฐกุล ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวในหัวข้อ การสร้างเมืองอัจฉริยะแห่งอนาคตสำหรับทุกคน (Building Smarter Cities: The Blueprint for Inclusive Urban Futures) ว่า เมื่อกล่าวถึง “เมืองอัจฉริยะ” หรือ “สมาร์ตซิตี้” หลายคนมักจะนึกถึงเทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น AI, IoT หรือ 5G หากคำถามที่สำคัญที่สุดที่มักจะมองข้าม คือ เทคโนโลยีเหล่านี้ตอบโจทย์ใคร หากเป้าหมายของเมืองอัจฉริยะ คือการทำให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้นด้วยการใช้เทคโนโลยี เหตุใดหลากหลายโครงการที่มีเทคโลยีล้ำหน้าถึงยังล้มเหลว เกิดเป็นโครงการที่ใช้ทรัพยากรมหาศาลสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่มีใครใช้งาน หรือสร้างภาระทางการเงินโดยไม่เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อชีวิตประชาชน และทำให้ประชาชนรู้สึกถูกละลาบละล้วงข้อมูลส่วนบุคคล
ที่ผ่านมาการพัฒนาเมืองอัจฉริยะขาดการออกแบบที่ใช้ความต้องการของประชาชนเป็นศูนย์กลาง หลายโครงการเน้นการใช้เทคโนโลยีมากกว่าการตอบสนองความต้องการที่แท้จริง ทำให้เกิดการตัดสินใจจากบนลงล่าง(Top-Down) โดยปราศจากข้อมูลที่ถูกต้องและการมีส่วนร่วมของประชาชน
การสร้างเมืองอัจฉริยะไม่ควรเริ่มจากการทุ่มงบประมาณไปกับโครงการใหญ่ แต่ควรเริ่มจากพื้นที่ทดลองเล็ก ๆ เพื่อทดสอบและปรับปรุงตามความต้องการของคนในชุมชุมชน แนวทางนี้แสดงให้เห็นว่าเมืองอัจฉริยะไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยเทคโนโลยีล้ำยุคที่สุด แต่ต้องเริ่มจากการฟังและการออกแบบที่ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของประชาชน ในการบรรยายครั้งนี้จะได้พูดคุยถึงกรณีศึกษาในการพัฒนาเมืองที่ได้ผล รวมถึงรูปแบบของการวางแนวทางในการได้มา ซึ่งพิมพ์เขียวสำหรับวิธีการที่จะสามารถสร้างพื้นที่อยู่อาศัยที่เป็นเมืองที่น่าอยู่และชาญฉลาดได้