นิเวศ 3 ดี: เปลี่ยนชีวิตเด็กปฐมวัยในแม่ใสด้วยการสร้างสื่อสุขภาวะ

นายสาคร นาต๊ะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ใส กล่าวถึงแนวทางการทำงานพัฒนานิเวศสื่อสุขภาวะของเด็กในตำบลแม่ใส ว่า   “การพัฒนาเด็กปฐมวัยถือเป็นภารกิจสำคัญที่องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ใสให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เราได้ใช้กรอบแนวคิด สื่อสร้างสุขภาวะ เพื่อยกระดับการดูแลและพัฒนาเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และมุ่งเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาของเด็กอย่างรอบด้าน ในการดำเนินงานมีการประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในแนวทางการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยเน้นการพัฒนาศักยภาพทีมงานให้สามารถดูแลเด็กได้อย่างเหมาะสม และสามารถบูรณาการกรอบแนวคิดสื่อสร้างสุขภาวะในการดำเนินงาน รวมถึง การพัฒนาศักยภาพครอบครัว เพื่อให้ผู้ปกครองเข้าใจบทบาทของตน พร้อมเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะต่อศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก”

กิจกรรมสร้างสรรค์: ครอบครัว 3 ดี จุดเริ่มต้นสุขภาพที่ดีของเด็ก

นางอุษณี จำรัส  ครูประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอบต.แม่ใส  หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า   โครงการนิเวศ 3 ดี ของแม่ใส ได้รับสนับสนุนจากสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก11) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ภายใต้การบริหารงานโดยกลุ่ม wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์  โดยนำแนวคิด “นิเวศสื่อสุขภาวะ” มาใช้ในการพัฒนาระบบการดูแลเด็กอย่างยั่งยืน  หลังจากทำโครงการมาได้สักระยะพบว่า “เด็กที่เคยชินกับการใช้เวลาหน้าจอ ได้เปลี่ยนมาเล่น สัมผัสธรรมชาติ ทำกิจกรรมร่วมกันในครบครัว เกิดความผูกพันกันครอบครัวมากขึ้น”   หนึ่งในกิจกรรมเด่นของโครงการ คือ การส่งเสริมให้ครอบครัวกลายเป็น “ครอบครัว 3 ดี” โดยสร้างพื้นที่เรียนรู้เล็ก ๆ ในบ้าน เช่น

  • มุมหนังสือ  ให้เด็กเข้าถึงหนังสือนิทานที่เหมาะสม
  • มุมปลูกผัก พ่อแม่และลูกได้เรียนรู้การดูแลต้นไม้ร่วมกัน
  • มุมน้ำทราย เด็กได้สัมผัสธรรมชาติ เสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อ

นอกจากนี้ทางศูนย์ฯยัง ส่งเสริมให้เกิดการตั้งกติการ่วมกันโดยมี  กติกาสำคัญในครอบครัว 5 ข้อ คือ

  1. จำกัดการใช้สื่อเทคโนโลยีไม่เกินวันละ 20 นาที
  2. จัดมุมส่งเสริมการเรียนรู้ในบ้านอย่างน้อย 3 มุม
  3. งดขนมกรุบกรอบและจัดโภชนาการเหมาะสม
  4. สื่อสารและแสดงความรักกับเด็กด้วยการกอด
  5. เปิดโอกาสให้เด็กแสดงความคิดเห็น

            ด้วยผู้ปกครอง เป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินงาน และสร้างเสริมพฤติกรรมการรับสื่อของเด็ก  จึงได้มีกิจกรรมอบรม สร้างความรู้ สร้างทักษะให้กับผู้ปกครองสามารถทำกิจกรรม ร่วมกันกับเด็กๆ ที่บ้าน  เช่น

           กิจกรรม “ผักแปลงร่าง”: ผู้ปกครองเรียนรู้การใช้วัสดุเหลือใช้มาประดิษฐ์สื่อการสอน เช่น ผลไม้จากกล่องนม

ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นกับขนมพื้นบ้าน  เด็กได้เรียนรู้กระบวนการทำขนม เช่น ขนมแตงไทย ขนมตะโก้ พร้อมสัมผัสแป้ง ชิมรสชาติ ด้วยตัวเอง

 

การสร้างพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชน

ด้วยความร่วมมือจากผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน หน่วยงานต้นสังกัด และ กศน.เมืองพะเยา เกิดผลลัพธ์พื้นที่ดี สำหรับเด็ก เป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับกิจกรรมทางกาย และการเรียนรู้ของเด็ก จำนวน 3 แห่ง ได้แก่

  1. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ใส เป็นพื้นที่เรียนรู้ เล่น ห้องสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัย
  2. พื้นที่รกร้างเดิมของโรงเรียนบ้านสันป่าถ่อน ที่ปรับเปลี่ยนให้เป็นแหล่งเรียนรู้
  3. ครอบครัว 3 ดี จำนวน 11 ครอบครัว ที่จัดพื้นที่ในบ้านให้เหมาะสมกับการส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก มีเวลาร่วมกันในครอบครัว ลดเวลาหน้าจอ

 

3 ดี ที่เปลี่ยนโลกเด็กปฐมวัย

โครงการนิเวศ 3 ดี ของแม่ใส ไม่ได้เพียงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็ก แต่ยังเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างครอบครัวและชุมชน เด็กที่เข้าร่วมโครงการมีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด เช่น

เด็กมีทักษะในการสื่อสาร พูดคุยโต้ตอบกับผู้ใหญ่ได้ดีขึ้น    มีสมาธิและการเรียนรู้ ลดการใช้เวลาอยู่กับหน้าจอ

โครงการมุ่งเน้นการสร้างสุขภาวะเด็กด้วยการเชื่อมโยงบทบาทของครอบครัวและชุมชน โดยมีองค์ประกอบสำคัญ ของ 3 ดี ที่เป็นหัวใจสำคัญ คือ

  • สื่อดี  ใช้สื่อที่สร้างสรรค์ เช่น นิทาน หรือสื่อทำมือจากวัสดุเหลือใช้ วัสดุจากธรรมชาติ
  • พื้นที่ดี ปรับสภาพแวดล้อมในบ้านและชุมชน เช่น การสร้างมุมเรียนรู้ในครอบครัว และพื้นที่สนามเด็กเล่น
  • ภูมิดี ส่งเสริมการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การทำขนมพื้นบ้าน วิถีชีวิต อาหาร ประเพณี

นางสาวสายใจ คงทน   ผู้จัดการกลุ่ม wearehappy  สรุปในตอนท้ายว่า  “โครงการ นิเวศ 3 ดี ในอบต.แม่ใส อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา แสดงให้เห็นว่า การสร้างนิเวศสื่อ ที่ส่งเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัย เป็นเรื่องที่ทุกคนในครอบครัวและชุมชนสามารถทำได้ร่วมกัน ผ่านการปรับปรุงพื้นที่ การใช้สื่อที่สร้างสรรค์ และการเชื่อมโยงกับภูมิปัญญา ครอบครัวทุกบ้านสามารถเริ่มต้นจากมุมเล็กๆ ในบ้านของคุณเอง แล้วร่วมกันเปลี่ยนโลกเล็กๆ ของลูก หลาน  การทำงานครั้งนี้เกิดจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างรากฐานชีวิตที่ดีให้กับเด็กปฐมวัย เราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือนี้จะนำไปสู่การพัฒนาเด็กให้เติบโตอย่างสมบูรณ์ในทุกมิติ และเป็นกำลังสำคัญของสังคมในอนาคต”