ยอดเข้าชม : 65
ณ หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในตำบลช้างเผือก อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ไม่เพียงแต่ดูแลเด็กๆ ในวัยเรียนรู้ แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในชุมชน ศูนย์แห่งนี้ไม่ใช่แค่สถานที่ดูแลเด็กเท่านั้น แต่เป็นบ้านหลังที่สอง ที่เติมเต็มหัวใจของเด็กและครอบครัวด้วย “สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี” อันเป็นนิเวศสื่อสุขภาวะที่สำคัญของเด็กปฐมวัย
ในชุมชนนี้ ภาษามลายูเป็นหัวใจสำคัญของการสื่อสารในชีวิตประจำวัน และยังสะท้อนถึงวัฒนธรรมในพื้นถิ่น สมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวน กรีดยาง ค้าขาย และร่อนทอง แต่ในขณะเดียวกัน ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงของครอบครัวรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ที่ต้องออกไปทำงานนอกพื้นที่ ทำให้เด็กๆ หลายคนอยู่ในความดูแลของตาและยาย
ความท้าทายนี้ทำให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านกุมุง ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็ก แต่ยังเป็นศูนย์กลางที่ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและเด็ก จึงได้จัดทำโครงการ “ครอบครัว 3 ดี” ภายใต้แนวคิด “มหัศจรรย์นิเวศสื่อสุขภาวะเพื่อเด็กปฐมวัย” ด้วยการสนับสนุนจากสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก11) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ภายใต้การบริหารงานโดยกลุ่ม wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์
ด้วยความตั้งใจและการทำงานที่สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านกุมุง ภายใต้การดูแลของกองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนตำบลช้างเผือก ศูนย์แห่งนี้ดำเนินงานด้วยแนวคิด “3 ดี” (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) เพื่อปลูกฝังสุขภาวะรอบด้านให้เด็กๆ จึงได้ประยุกต์ “ภูมิดี” ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การประชุมผู้ปกครอง งานกีฬาสี และกิจกรรมสืบสานวัฒนธรรม เช่น การกวนขนมอาซูรอและงานเมาลิด
เริ่มต้นกับครอบครัวสร้างรากฐานของการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็ก
ครูยามีละ มูซอ รักษาการหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านกุมุง กล่าวถึงโครงการนี้ว่า “เราเริ่มต้นด้วยการรวมตัวของผู้ปกครอง 29 ครอบครัว และครูผู้ดูแล 9 คน ทุกคนมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ “ครอบครัว 3 ดี” ที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นและโอกาส พ่อแม่เริ่มทำกิจกรรมง่ายๆ กับลูก เช่น เล่านิทาน ปลูกผักในสวนหลังบ้าน หรือประดิษฐ์ของเล่นจากวัสดุเหลือใช้ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่ช่วยพัฒนาทักษะของเด็กๆ แต่ยังเชื่อมโยง ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวเข้าไว้ด้วยกัน
ในช่วงกิจกรรม “นิเวศ 3 ดี” ผู้ปกครองได้รับการสนับสนุนให้เปลี่ยนบ้านของตัวเองให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เช่น จัดมุมอ่านหนังสือเล็กๆ ในบ้านหรือปลูกผักสวนครัวร่วมกับลูก ผลลัพธ์ที่ได้ไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเด็ก แต่ยังเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว จากการทำกิจกรรมดังกล่าวทำให้ พ่อ แม่ ลูก ได้มีกิจกรรมด้วยกัน พูดคุยกันมากขึ้น มีความสัมพันธ์ดี ปลูกฝังแนวคิดให้ผู้ปกครองและครู ทุกคนเริ่มมองเห็นความสำคัญของ “เวลา” ที่ใช้ร่วมกัน ครอบครัวกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญที่สุด เด็กๆ เติบโตขึ้นทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา และสังคม
สื่อที่ไม่สำเร็จรูป พลังแห่งจินตนาการ
ทีมครูปฐมวัยจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบางกุมุง ได้ร่วมกันจัดทำ “กล่องมหัศจรรย์” เพื่อส่งเสริมการเล่นและเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย แทนที่จะใช้ของเล่นสำเร็จรูปแบบเดิมๆ ศูนย์แห่งนี้เลือกนำ “สื่อไม่สำเร็จรูป” มาใช้ ซึ่งเป็นสื่อที่ช่วยเปิดพื้นที่ให้เด็กออกแบบและปรับแต่งเองได้อย่างอิสระ เช่น บล็อกไม้ ไม้หนีบ หรือตุ๊กตาถุงกระดาษ เด็กๆ มีโอกาสทดลองสร้างของเล่นในรูปแบบของตัวเอง พวกเขาได้ฝึกสมอง ฝึกคิด และพัฒนาความสัมพันธ์ของชิ้นส่วนต่างๆ
ภายใน “กล่องมหัศจรรย์” เต็มไปด้วยสื่อสร้างสรรค์ที่ทีมครูและผู้ปกครองร่วมกันผลิต เช่น เกมการศึกษา งานประดิษฐ์จากวัสดุในท้องถิ่น และกิจกรรมที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ กล่องนี้ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างความสุขให้เด็ก แต่ยังเป็นเครื่องมือที่กระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว “การได้เห็นรอยยิ้มของเด็กๆ ในทุกกิจกรรม เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีแรงผลักดันในการพัฒนา เราไม่ได้ทำเพื่อวันนี้เท่านั้น แต่เรากำลังสร้างอนาคตที่สดใสสำหรับชุมชนและครอบครัวของพวกเขา” ครูเจ๊ะซูรียานี เต๊ะ คณะทำงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านกุมุง กล่าวเพิ่มเติม
ผู้ปกครองได้รับคำแนะนำให้ปรับพื้นที่ในบ้านให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เช่น การจัดมุมอ่านหนังสือ ปลูกผักสวนครัว หรือสร้างเกมเล่นกับลูก ส่งเสริมให้พวกเขาใช้เวลาอย่างมีคุณภาพร่วมกัน ดังนี้
- เกมสร้างสรรค์: เปิดโลกแห่งจินตนาการ บล็อกไม้หลากสี เด็กๆ ได้เรียนรู้การต่อบล็อกไม้เพื่อสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ตามจินตนาการ เช่น บ้าน ตึก หรือสะพาน บล็อกไม้ไม่เพียงแค่ช่วยพัฒนาทักษะกล้ามเนื้อ แต่นี่ยังเป็นบทเรียนสำคัญเกี่ยวกับความสมดุลและความคิดเชื่อมโยง
- งานประดิษฐ์: สร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วยมือเรา ตุ๊กตาถุงกระดาษ ผู้ปกครองและเด็กได้ร่วมกันสร้างตุ๊กตาจากถุงกระดาษ โดยใช้สี ด้าย และกระดาษหลากสีในการตกแต่ง เด็กๆ สามารถใช้ตุ๊กตานี้เล่าเรื่องราวหรือแสดงบทบาทสมมติ ช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารและความมั่นใจ
- สื่อการเรียนรู้: เพิ่มพูนความรู้และความสนุก เกมจับคู่ภาพ เกมจับคู่ภาพที่ช่วยกระตุ้นความจำและการคิดเชิงสัมพันธ์ ผู้ปกครองสามารถเล่นร่วมกับลูกเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีและสนุกไปด้วยกัน
- งานศิลปะ: ระบายความคิดในโลกสีสัน กิจกรรมระบายสี กระดาษและสีหลากหลายชนิดในกล่องช่วยเปิดโอกาสให้เด็กได้สร้างสรรค์ภาพวาดตามจินตนาการ ผู้ปกครองสามารถช่วยสอนเรื่องสี รูปทรง หรือแม้แต่เล่าเรื่องจากภาพที่เด็กวาด
- การสร้างพื้นที่เล่นในครอบครัว ในกล่องมหัศจรรย์ ยังมีแนวคิดเพื่อช่วยผู้ปกครองปรับพื้นที่ในบ้านให้กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่เต็มไปด้วยจินตนาการ เช่น
- มุมทราย สำหรับการเล่นสนุก ตามจินตนาการของเด็ก
- มุมปลูกผัก เด็กๆ ได้เรียนรู้การปลูก การดูแลผัก พร้อมกับพ่อแม่
- มุมหนังสือ ส่งเสริมเด็กมีนิสัยรักการอ่าน และใช้เวลาร่วมกันของครอบครัว
กติกาสร้างสุขของครอบครัว 3 ดี
เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนพัฒนาการของเด็กในทุกมิติ ทางศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และครอบครัวได้ร่วมกันกำหนดกติกาง่ายๆ เช่น
- ให้เวลากับลูกในแต่ละวัน
- ทำกิจวัตรประจำวันร่วมกับลูก เช่น การทำอาหารหรือปลูกต้นไม้
- ควบคุมการใช้โทรศัพท์ของลูกให้เหมาะสม
- ช่วยลูกฝึกกิจกรรมที่ส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง เช่น การแต่งตัว
นางสาวสายใจ คงทน หัวหน้าโครงการฯจากกลุ่ม wearehappy กล่าว แนะนำถึงกระบวนการพัฒนาให้บ้านเป็นนิเวศแห่งการเรียนรู้ ผ่านสื่อ กิจกรรม และพื้นที่สร้างสรรค์ เพิ่มเติมว่า “กล่องมหัศจรรย์ เป็นกล่องที่บรรจุสื่อไม่สำเร็จรูป ที่หมายถึง สื่อสร้างสรรค์ที่ สามารถแปรเปลี่ยนได้หลากหลาย ส่งเสริมให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ ทดลอง ด้วยตัวของเด็กเอง โดย “กล่องมหัศจรรย์” ที่ส่งต่อจาก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สู่ครอบครัว ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ของสื่อสร้างสรรค์ แต่เป็นสะพานที่เชื่อมต่อความรัก ความเข้าใจ และความสุขในครอบครัว เด็กๆ ไม่เพียงเติบโตทางร่างกาย แต่ยังเติบโตในหัวใจ ทักษะ และจินตนาการ ซึ่งเป็นรากฐานของชีวิตที่ดีในอนาคต ครอบครัว 3 ดี: สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี เริ่มต้นได้ที่บ้านของพวกเราทุกคนค่ะ”
ตัวอย่าง การทำ “กล่องมหัศจรรย์” เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กจากที่บ้าน
การเลือกกล่อง อาจใช้ ใช้กล่องกระดาษแข็งหรือพลาสติกที่ทนทาน ตกแต่งกล่องด้วยสีสันที่ลูกชื่นชอบ เช่น การวาดรูป หรือแปะสติกเกอร์ ใส่ชื่อกล่อง เช่น “กล่องสร้างฝัน” หรือ “โลกแห่งจินตนาการ” หลังจากนั้นเตรียมสื่อไม่สำเร็จรูปใส่ในกล่อง วัสดุเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของเด็ก ได้แก่ บล็อกไม้: หลากสีหรือขนาด เพื่อการต่อสร้าง ตุ๊กตาถุงกระดาษ: ถุงกระดาษและวัสดุตกแต่งเชือกและด้าย: สำหรับงานประดิษฐ์ กระดาษหลากสี: สำหรับพับ ตัด หรือทำการ์ด สีไม้ สีเทียน สีน้ำ: สำหรับวาดและระบายสี อุปกรณ์เสริมการเรียนรู้อื่นๆ เช่น บัตรคำตัวเลขหรือพยัญชนะ เกมจับคู่ภาพ แป้งปั้น(แป้งโดว์) หนังสือนิทานขนาดเล็ก หรืออื่นๆที่ เด็กๆชื่นชอบ
ที่มา กลุ่ม wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์