ยอดเข้าชม : 16
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมคือการกลายพันธุ์ของยีนที่ทำให้เซลล์เจริญเติบโตเพิ่มจำนวนมากเกินกว่าที่ร่างกายจะควบคุมได้ จนกลายเป็นก้อนมะเร็งเต้านมที่มาสมารถลุกลามและแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย เป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเต้านม คือ พันธุกรรม และญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม, ผู้หญิงอายุมาก, ผู้หญิงไม่มีบุตร, ผู้หญิงมีประจำเดือนเร็ว และหมดประจำเดือนช้า, ผู้ที่ได้รับฮอร์โมนทดแทน, ผู้มีภาวะอ้วน, ดื่มแอลกอฮอล์, มีความเครียดสูง
ในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าจนสามารถตรวจวิเคราะห์ถึงระดับยีนมะเร็งเต้านมที่เป็นสาเหตุและจะนำไปสู่การป้องกันและการรักษาโรคมะเร็งเต้านมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1 และ BRCA2 เป็นยีนในกลุ่มยีนต้านมะเร็ง ซึ่งสร้างโปรตีนที่คอยทำหน้าที่ยับยั้งการเติบโตของเซลล์ที่มากผิดปกติ หากเกิดการกลายพันธุ์ของยีนกลุ่มนี้จะส่งผลกระทบกับหน้าที่ของโปรตีนที่ถูกสร้างขึ้น ก็จะเพิ่มโอกาสเกิดโรคมะเร็งต่างๆ รวมถึงมะเร็งเต้านมทั้งในหญิงและชาย ดังนั้นผู้ที่มีรหัสพันธุกรรมในส่วน ยีน BRCA1 หรือ BRCA2 ผิดปกติจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมสูงกว่าคนทั่วไปถึง 4 – 5 เท่า
วิธีการรักษามะเร็งเต้านมที่ดีที่สุดคือ แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไปเป็นประจำทุกปี การตรวจพบมะเร็งเต้านมได้เร็วจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้มากขึ้น อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมทั่วโลกอยู่ที่ 30% และในเอเชีย 30 – 40% การตรวจมะเร็งเต้านมทำได้ 4 วิธี 1. การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง 2. การตรวจเต้านมโดยแพทย์ 3. การตรวจอัลตราซาวด์แมมโมแกรม 4. การตรวจด้วย MRI 5. การตรวจคัดกรองและค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1 และ BRCA2
อาการแสดงของมะเร็งเต้านม คือ เมื่อตรวจเต้านมด้วยตัวเองจะคลำพบก้อน, มีของเหลวหรือเลือดออกจากบริเวณหัวนม, ผิวหนังบริเวณเต้านมมีความผิดปกติ เช่น ผิวหนังไม่เรียบเนียบ มีลักษณะคล้ายผิวส้ม, มีแผลที่บริเวณหัวนม, เจ็บเต้านม
ระยะของโรคมะเร็งเต้านม แบ่งเป็นระยะที่ 1 ก้อนเนื้อในเต้านมมักมีขนาดเล็กกว่า 2 เซนติเมตร เซลล์เริ่มมีความผิดปกติและยังไม่กระจายไปอวัยวะอื่น, ระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งอาจเริ่มแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองหรือก้อนเนื้อจะมีขนาดใหญ่กว่าเดิม, ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งที่เต้านมเริ่มแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะอื่น ๆ ระยะนี้ก้อนเนื้ออาจมีขนาดมากกว่า 5 เซนติเมตร, ระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งแพร่กระจายสู่อวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น ปอด กระดูก ช่องท้อง หรือสมอง ระยะนี้ก้อนเนื้อจะมีขนาดได้หลายขนาด
การรักษาทำได้โดยวิธีการผ่าตัดเต้านมพร้อมกับการฉายแสงหรือรังสีรักษา การใช้ยาเคมีบำบัดหรือคีโมเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งและหยุดการแพร่กระจาย และการใช้ยาต้านฮอร์โมนเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
ผู้สนใจปรึกษาข้อมูลด้านการรักษาโรคมะเร็งเต้านมได้ที่ แผนกศัลยกรรม ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โทรศัพท์ 02 502-2345 ต่อ 4355